วันพุธที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ภูมิปัญญาท้องถิ่นศรีสะเกษ (รำแม่สะเอิง)

 ประวัติความเป็นมา      
                    คำว่า  สะเอิง  มาจากภาษาส่วยคือ  สะเอง แต่คนลาวจะเรียกว่าสะเอิง มีความหมายเหมือนกันทั้งภาษาลาวและภาษาส่วยแต่จะเรียกต่างกันเท่านั้น  ความหมายคือ ครก  คุณยายในอดีตแก่เก่า เล่าสืบต่อกันมา  และสืบทอดให้ลูกหลานปฏิบัติสืบต่อกันมาว่า  สมัยก่อน  มีเครือเถาวัลย์หย่อนลงมาจากเมืองพระยาแถนจนถึงเมืองมนุษย์  เมืองพระยาแถนเป็นเมืองผีพอพลบค่ำชาวเมืองมนุษย์ก็พากันตำข้าวเข็นฝ้าย  โดยส่วนมากจะเป็นสาว ๆ  ส่วนผีแม่สะเอิงเป็นผู้ชายได้แปลงกายเป็นมนุษย์  ลงมากับเครือเถาวัลย์  มาเที่ยวจีบสาวเข็นฝ้ายตำข้าวที่เมืองมนุษย์  ส่วนหนุ่ม ๆ  เมืองมนุษย์ก็โกรธจึงพากันไปตัดเครือเถาวัลย์ทิ้งเสีย  ทำให้ผีเมืองพระยาแถนกลับขึ้นมาไม่ได้จึงโกรธแค้นมนุษย์บันดาลให้มนุษย์เกิดอาการเจ็บป่วย  เป็นไข้  ต่าง ๆ  นา ๆ  รักษาอย่างไรก็ไม่หาย  ชาวเมืองจึงให้โหนมาทำนายดูว่า  เกิดจากสาเหตุอะไร  ทำให้ทราบความจริงว่า  เกิดจากผีแม่สะเอิงทำ  เพราะโกรธแค้นที่มีคนไปตัดเครือเถาวัลย์ทิ้ง  ชาวบ้านจึงแต่งเครื่องเซ่นไหว้ให้เขาอยู่เขาจะได้มาสิงที่ตัวคนป่วยให้เป็นตัวของเขาเอง  และหายจากความเจ็บป่วย  และเมื่อถึงเวลาเดือนสามให้แต่งเครื่องสังเวยให้เขาและมีร่างทรงให้เขาด้วยพร้อมทั้งมีเครื่องดนตรีประกอบคือ  โทน  แคน  เพื่อผีแม่สะเอิงจะเข้าสิงร่างทรง  ได้ทำรำ  ฟ้อนรำต่าง ๆ  ที่เขายากจะรำและชาวบ้านได้ทำให้เขา  คนที่เจ็บไข้ก็จะหายจริง ๆ  จึงได้ถือปฏิบัติกันมาเสียจนถึงปัจจุบันนี้  เหตุที่เรียกว่าแม่สะเอิงนั้นเวลาเขาสิงร่างคนนั้น  เราจะเอาอะไรให้เขาก็ไม่เอา  นอกจากสะเอิงหรือครกตำพริกให้ร่างทรงจับ  และออกจากร่างทรงนั้นไป  และทำให้ชาวบ้านอยู่เย็นเป็นสุข

                       ปัจจุบันการรำแม่สะเอิง  จะปฏิบัติกันในเดือนสามของทุกปีเท่านั้นโดยจะทำกันเป็นกลุ่มมีร่างทรงประมาณ  10-20  คน  ต่อกลุ่มคนที่จะเป็นร่างทรงได้นั้ยส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บปวดก่อนและให้โหนทำนายดูถ้ารู้ว่ามีแม่สะเอิงอยากจะเขาสิงร่างเพื่อทำกายร่ายรำก็จะแต่งเครื่องสังเวยได้ทำพิธีให้แม่สะเอิงเข้าสิง  ถ้ามีแม่สะเอิงเข้าสิงอาการป่วยก็จะหาย  และถ้าถึงเดือนสามของทุกปีก็จะแต่งเครื่องสังเวย  ให้ผีแม่สะเอิงร่างเพื่อร่ายรำต่อไป

    วิธีประกอบเครื่องสังเวย
                1.ตั้งโฮงล่ามขา  ทำด้วยก้านกล้วย มัดไล่กันข้างบนแคบข้างล่างกว้างเพื่อใส่บายสี  4  ถ้วยประดับประดาด้วยดอกไม้หลายสีแต่ละถ้วยประกอบด้วย  กล้วย  4  กลีบ  ข้าวต้ม  4 กลีบ  ข้าวสวย  1ช้อน  ข้าวอ้อล้อ  4  ก้อน
              2.ผ้าซิ่นผ้าแพรวา  ข้าวสาร 1 ถ้วย   ไข่ 1 ฟอง  เทียนตีกา 1 คู่  เหล้า 1 ขวด  น้ำหวาน 1 ขวด  ฝ้ายผูกแขน  น้ำหอม  1  ขัน
              3.เครื่องประกอบ  
   - ขันมะเม็ง  1  ครู่  
   - ซวยแหลมสองแปด 
   - ซวยตีกา  1  ครู่เย็บช่อ 5-1  ครู่  ช่อ  9-1 ครู่  เย็บด้วยใบตองกล้วยสด  
   - ดอกไม้  8  ฮวด  ร้อยด้วยดอกลั่นทม(ภาษาลาวเรียกดอกจำปา)  
   - ชองใบมะพร้าว  1  ครู่ทำด้วยใบมะพร้าว  
   - ชองใบหมี่  1  ครู่ทำด้วยใบขนุน  
   - ซวยเปล  1  ครู่ 
   - หมากมีมล  1  ครู่  
   - พวงมาลัย  1  ครู่ทำด้วยใบตาล  
   - ใยแมงมุม  1  ครู่  ทำด้วยด้ายสองสี  
   - กล้วย  1  หวี  
   - ข้าวต้ม  4  กลีบ   

             พิธีกรรม
             พิธีเล่นสะเอิงเริ่มจากเจ้าภาพนำดอกจำปาหรือดอกจานคู่หนึ่งใส่พาน หรือขัน ไปเชิญแม่สะเอิงที่เป็นแม่ทรง แม่สะเอิงบริวารของแม่ทรง 5 - 9 คน และมือฆ้องอีก 1 คน มือกลอง 1-3 คน บางแห่งอาจมีแคน ฉิ่ง ฉาบด้วย ในพิธีการรำจะเริ่ม โดยแม่ครูจะบนบานบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางไม่ให้มีอุปสรรคขัดขวางในการทำพิธี การทำพิธีนั้นจะอัญเชิญแถนให้เข้ามาสู่ร่างกาย และมาสู่แม่ฟ้อน (นางรำ) คนอื่นๆ โดยแม่สะเอิงถือขันภายในมีข้าวสาร เงิน เทียนเหลืองห่อหนึ่งและจุดเทียนขาวคู่หนึ่ง เมื่อผีเข้าทรง ร่างแม่ทรงก็สั่นทั้งตัว มือที่ถือขัน สั่นกระตุก จนเทียนดับ ขันหลุดมือ ข้าวสารหกกระจายขณะที่กลอง ฆ้อง ก็เริ่มบรรเลง เมื่อเข้าทรงเสร็จแล้วก็รำพร้อมกันไปตามจังหวะและมีแม่ครูเป็นคนร้องนำแล้วคนอื่นๆ ก็จะร้องตามรำเอนอ้อมปะรำพิธี รำไปจนกว่าแถนจะออกจึงเลิกรำกันไปเอง มีการพักเพื่อรับประทานอาหารว่างระหว่างการรำสะเอิงด้วย เมื่อฟ้อนรำไปได้ระยะหนึ่ง บรรดาแม่สะเอิงก็ใช้ด้ายที่แขวนบนชั้นมาทัดหูและนำมาลัยดอกจำปาหรือมาลัยดอกนาน มาสวมลงบนศีรษะ มือกลอง มือฆ้องก็สวมมาลัยดอกไม้เช่นเดียวกัน จากนั้นก็ฟ้อนแสดงการละเล่นต่าง ๆ เริ่มด้วย แห่เทียนเข้าพรรษา อันแสดงถึงความแนบแน่นในพุทธศาสนา เล่นเป็นหนุ่ม เป็นสาว เกี้ยวพาราสีปรับไหมกัน สะท้อนจารีตประเพณีการดำเนินชีวิต เล่นปล่อยวัว ปล่อยควาย โดยแม่สะเอิงทุกคน เสียบดอกไม้ที่ง่ามนิ้วมือสมมุติแทนวัวควาย ผู้ขโมยวัวควายก็จะแอบดึง ดอกม้า จากง่ามนิ้วนั้นแล้วมีการปรับไหมเป็นเหล้า ยาสูบ แล้วเล่นปราบจระเข้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย เล่นจุดบั้งไฟเพื่อขอฝนเพื่อการเกษตร และ สุดท้ายคือเล่นตักบาตร เพื่อแสดงถึงความมีใจบุญสุนทานในพุทธศาสนา ในบางแห่งผีบรรพบุรุษ จะมาเข้าทรง ในร่างของแม่สะเอิงทีละคน เริ่มจากผู้หลักผู้ใหญ่ใน วงศ์ตระกูล อาจเป็นปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ และญาติที่ล่วงลับไปแล้วจนครบทุกคน เมื่อเข้ามาอยู่ในร่างทรงแล้ว จะทักถามลูกหลาน ลูกหลานก็ถามข่าวคราวของ ผีแถนและผีบรรพบุรุษ อดีตชาติของผีบรรพบุรุษเคยแสดงอย่างไร ก็ปรากฏอย่างนั้น เช่น เสียงห้าว เสียงแหลม สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เคี้ยวหมากพลู ผีแถน และ ผีบรรพบุรุษจะทักท้วงสาเหตุที่ลูกหลานเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะกระทำผิดหรือล่วงเกินอันใด ลูกหลานจะต้อง ขอขมาอาหารหาอาหารมาเลี้ยงเป็นรายๆ ไป บางครั้งแถนที่เข้าทรง แม่สะเอิงที่อ่อนแอขี้โรคสามารถดื่มเหล้าได้มาก โดยไม่มีอาการเมามาย หรือสามารถสูบบุหรี่ที่มีพริกแห้ง สอดไส้ได้โดยไม่จามในการรำนั้น เพื่อความเป็นระเบียบสวยงามนิยมให้สวมใส่เสื้อผ้าสีเดียวกัน มีผ้าพาดบ่าเรียกว่า ผ้าแพรแฮมีพวงมาลัยที่ร้อยด้วยดอกจำปา(ลั่นทม) มาคล้องคอ หรือสวมศีรษะด้วย มีแม่ครูเป็นผู้ร้องและรำไปด้วย การร้องบูชาแถนนั้นเป็นคำอ้อนวอนที่ขอให้ผู้ป่วยหายป่วย เร็วๆ เรียกขวัญให้กลับมาสู่ ร่างกาย ความเจ็บอย่าให้ได้ความไข้อย่าให้มี พิธีกรรมนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสมัครสมานสามัคคีของชาวบ้าน ปลูกฝังคุณธรรม ให้ลูกหายรู้จัดเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ปฏิบัติตามประเพณีที่ดีงาม
                                                            
   ประวัติผู้ให้สัมภาษณ์หรือให้ข้อมูล
         
นางสอน ชมพูวงศ์
เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485

อาชีพ   ทำนา

ที่อยู่ปัจจุบัน    บ้านเลขที่   35/1 หมู่ที่ 2 บ้านดวนใหญ่   ตำบลดวนใหญ่   อำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ 33270

ผลงาน-ความสามารถ

     นางสอน ชมพูวงศ์ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเป็นผู้นำในการทำพิธีรำแม่สะเอิง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น