การทำเครื่องจักสานพื้นบ้านในแต่ละภาคของไทยมีปัจจัยหลายอย่างเป็นองค์ประกอบกำหนดรูปแบบของเครื่องจักสาน
โดยเฉพาะสภาพทางภูมิศาสตร์และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเครื่องจักสานพื้นบ้านภาคต่างๆ
เครื่องจักสานพื้นบ้านของภาคใต้ก็เช่นเดียวกัน
ลักษณะภูมิศาสตร์ของภาคใต้ที่แตกต่างไปจากภาคอื่นๆ
ส่งผลถึงการประกอบอาชีพและการสร้างเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทเครื่องจักสานด้วย
ภาคใต้เป็นแหล่งที่มีวัตถุดิบที่นำมาใช้ใน การทำเครื่องจักสานได้หลายชนิด เช่น ไม้ไผ่
หวาย กระจูด และ ย่านลิเภา บริเวณชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไปเป็นแหล่งสำคัญของการผลิตเครื่องจักสานของภาคใต้
มีเครื่องจักสานหลายอย่างที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตนที่ต่างไปจากเครื่องจักสานอื่นๆ
เช่นเครื่องจักสานย่านลิเภาที่ทำกันมากในบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช เครื่องจักสานกระจูดทำกันมากในหลายท้องถิ่นในเขตจังหวัดพัทลุง
สงขลา และปัตตานี นอกจากนี้ก็มีเครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ทำกันทั่วไปแทบทุกจังหวัด
เครื่องจักสานพื้นบ้านของภาคใต้โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะถิ่นที่น่าสนใจมีหลายชนิดแต่มีเครื่องจักสานชนิดหนึ่งที่สร้างตามความต้องการในการใช้สอยตามสังคมเกษตรกรรมของชาวใต้
ที่มีความสวยงาม
มีลวดลายที่ประณีตและเอื้ออำนวยต่อประโยชน์ใช้สอยเป็นอย่างดีทั้งยังสัมพันธ์กับความเชื่อถือของชาวใต้อย่างน่าสนใจยิ่ง
คือ กระด้ง ซึ่งชาวใต้เรียกว่า "ด้ง"
กระด้ง หรือ ด้ง ที่นิยมใช้กันอยู่ในภาคใต้มี ๒ อย่าง คือ
กระด้งฝัดข้าว
และกระด้งมอนกระด้งทั้งสองชนิดนี้สานด้วยไม้ไผ่และหวายสำหรับใช้งานเกษตรกรรม
โดยเฉพาะการทำไร่ทำนา
กระด้งปักษ์ใต้ทั้งสองชนิดเป็นกระด้งที่มีลักษณะเฉพาะที่ต่างไปจากกระด้งภาคอื่นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งด้านรูปแบบและลวดลาย
ด้านรูปแบบของกระด้งฝัดภาคใต้ต่างไปจากกระด้งทั่วๆ
ไป คือ จะมีรูปกลมรีคล้ายรูปหัวใจ ส่วนป้านจะกลมมน
ส่วนแหลมจะรีเล็กน้อยและการทำกระด้งให้มีลักษณะรีแทนที่จะกลมก็เพื่อความสะดวกในการร่อน
ฝัด และเทข้าวออกแสดงให้เห็นการสร้างรูปแบบที่สอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยอย่างแยบยล
กระด้งฝัดข้าวของภาคใต้มี ๒ ชนิดคือ"กระด้งลายขอ" และ
กระด้งบองหยอง"
กระด้งลายขอ
เป็นกระด้งฝัดข้าวที่มีรูปแบบและลายสานที่ถือว่าเป็นเครื่องจักสานชั้นเยี่ยมที่ออกแบบรูปร่างและลวดลายประณีตประสานกับการใช้สอยได้เป็นอย่างดี
และมีคุณค่าทางความงามด้วย
กระด้งลายขอนิยมสานด้วยตอกไม้ไผ่สีสุก
เพราะเป็นไม้ไผ่ที่มีเนื้อแข็งและเหนียว
กระด้งลายขอมีลักษณะพิเศษอยู่ที่ตอกซึ่งจะปล่อยข้อปล้องไม้ไผ่ด้านที่เป็นผิวไว้
โดยไม่ได้ตัดออก ตอกด้านนี้จึงมีลักษณะเป็นขออยู่ตามปล้อง
ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกว่า "กระด้งลายขอ"
ตอกที่จะเว้นข้อไว้เป็นขอนี้เส้นหนึ่งจะมีข้อเหลือไว้เพียงข้อเดียว
เวลาสานผู้สานจะต้องสานวางจังหวะของตอกพิเศษที่มีข้อเหลือไว้แต่ละเส้นให้อยู่กึ่งกลางของกระด้งและเรียงสลับฟันปลาการเหลือข้อไว้บนตอกเพื่อให้เกิดเป็นลายขอบนกึ่งกลางกระด้งนี้
มิได้ทำขึ้นเพื่อความสวยงามแต่อย่างเดียว
หากแต่ต้องการให้เกิดประโยชน์ในการฝัดข้าวได้ดีด้วย
กระด้งลายขอนี้จะใช้ฝัดข้าวเปลือกที่ผ่านการซ้อมด้วยมือ
หรือสีด้วยเครื่องสีข้าวพื้นบ้านมาแล้ว แต่ยังมีเปลือกข้าวที่เรียกว่า ขี้ลีบและกาก ปะปนอยู่
จะต้องนำมาฝัดด้วยกระด้งลายขอ ลายขอที่เกิดจากการเว้นข้อไว้บนผิวไม้ไผ่ตามธรรมชาตินี้จะช่วยให้กากข้าวขี้ลีบและสิ่งที่ไม่ต้องการสะดุดกับขอของตอกที่พื้นกระด้งลอยตัวขึ้นบนผิวกระด้ง
และจะรวมกันอยู่ตามร่องระหว่างขอตรงกลางกระด้ง จึงฝัดหรือเก็บออกได้ง่าย
นอกเหนือไปจากรูปแบบและโครงสร้างของกระด้งลายขอที่มีลักษณะเฉพาะที่สนองความต้องการในการใช้สอยได้ดีแล้ว
ขั้นตอนและแบบอย่างของลวดลายในการสานกระด้งชนิดนี้ยังมีแบบอย่างที่มีลักษณะเฉพาะถิ่นที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ
ตั้งแต่หลักการสานที่คิดเป็นสูตรด้วยคำที่คล้องจองไว้ว่า "ยกสองข่มห้า
เรียกว่า ลายบ้าเอย"ที่เรียกว่า "ลายบ้า"
คงเป็นเพราะว่าการสานกระด้งชนิดนี้สานยากนั่นเอง ผู้สานจะต้องเป็นช่างฝีมือดี
เมื่อสานเสร็จแล้วแนวทางของเส้นตอกจะต้องเป็นแนวมีระเบียบ
และลายของปล้องข้อจะเรียงกันได้จังหวะงดงามอยู่ตามด้านหน้ากระด้งส่วนด้านหลังจะเป็นแนวร่องตอกซึ่งเรียกว่า
"ดี"กระด้งลายขอนี้ส่วนมากจะมีขนาดไม่ใหญ่นักและนิยมเรียกแนวดีแทนขนาด
เช่น กระด้งขนาด๗ ดี หรือ ๙ ดี เป็นต้น
กระด้งที่นิยมใช้กันเป็นกระด้งที่มีลายขอถี่หรือละเอียดมากกว่ากระด้งที่มีลายขอห่างๆ
กัน
กระด้งฝัดข้าวอีกอย่างหนึ่งที่ถือว่าเป็นกระด้งที่มีลักษณะเฉพาะของภาคใต้
คือ "กระด้งลายบองหยอง" กระด้งชนิดนี้สานง่ายกว่ากระด้งลายขอ
การสานกระด้งลายบองหยองใช้ตอกไม้ไผ่เช่นเดียวกับกระด้งลายขอ แต่ใช้ตอกเส้นใหญ่กว่าและไม่มีข้อปล้อง
เป็นตอกเรียบๆ ธรรมดาผิวหน้ากระด้งจึงเป็นลายเรียบๆ
กระด้งชนิดนี้ใช้ฝัดข้าวและเมล็ดพืชพันธุ์ต่างๆ เช่นเดียวกัน นอกจากกระด้งทั้งสองชนิดดังกล่าวแล้วยังมีกระด้งอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า
"กระด้งมอน" คำว่า "มอน" เป็นภาษาปักษ์ใต้
หมายถึงกระด้งกลมขนาดใหญ่กว่ากระด้งฝัดข้าวเท่าหนึ่ง ใช้ตากพืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ
เพราะเป็นกระด้งขนาดใหญ่มีเนื้อที่มากกว่ากระด้งทั่วๆ ไป ลักษณะของกระด้งชนิดต่างๆ
ดังกล่าวแล้วจะเห็นว่ากระด้งของภาคใต้เป็นเครื่องจักสานที่มีลักษณะเฉพาะถิ่นโดดเด่นชนิดหนึ่ง
นอกจากนี้กระด้งของภาคใต้เกี่ยวเนื่องกับคติความเชื่อของชาวใต้ที่ยึดถือสืบต่อกันมาแต่โบราณด้วย
เช่นห้ามนำกระด้งขึ้นไปบนยุ้งข้าว
เพราะจะทำให้ขวัญข้าวหรือแม่โพสพหรือเทพธิดาแห่งข้าวไม่พอใจแล้วหนีไปไม่คุ้มครองเป็นมิ่งขวัญ
ทำให้การทำนาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
ความเชื่อนี้แม้จะหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมแม่โพสพจึงไม่ชอบกระด้งแต่ก็เป็นความเชื่อที่เชื่อถือสืบต่อกันมาแต่โบราณความเชื่อที่เกี่ยวกับกระด้งอีกอย่างหนึ่งคือ
จะต้องเก็บรักษากระด้งไว้ให้ดี
ถือว่ากระด้งเป็นของสำคัญต้องเก็บไว้ในที่สูง เช่น ตามชายคา
หรือเหนือเตาไฟในครัวเพื่อให้ควันไฟช่วยรักษาเนื้อไม้ไม่ให้มอดหรือแมลงกัดกิน
และช่วยให้เส้นตอกแน่นมีสีดำอมแดงดูสวยงามอยู่เสมอ การที่ชาวบ้านเก็บรักษากระด้งไว้ในที่สูงไม่ให้เด็กนำไปเล่นนั้น
อาจจะมาจากความเชื่อที่ว่า แม่โพสพเป็นผู้มีพระคุณให้ข้าวเลี้ยงชีวิตมนุษย์
จึงควรเก็บรักษากระด้งฝัดข้าวไว้ให้ดี
การเก็บรักษากระด้งนี้นอกจากจะใช้ควันไฟจากการหุงหาอาหารช่วยเคลือบผิวแล้ว
บางครั้งจะทำด้วยน้ำมันยางทาขี้ชันผสมรำข้าว ซึ่งจะช่วยให้ใช้ได้นาน
ถ้าพิจารณาจากความเชื่อนี้แล้ว
จะเห็นว่าเป็นอุบายของคนโบราณที่จะรักษากระด้งไว้ให้คงทน ใช้งานได้นาน
เพราะกระด้งสานยากจะต้องใช้ความละเอียดประณีตมาก
การสานกระด้งลายขอและกระด้งชนิดอื่นๆ ของภาคใต้ยังมีสานกันอยู่บริเวณพื้นที่ราบที่มีการทำไร่
ทำนา ได้แก่บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช
โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช
ยังมีช่างสานกระด้งลายขอฝีมือดีอยู่บ้างแต่ไม่มากนักเพราะการสานกระด้งลายขอต้องใช้ความพยายามและต้องมีความละเอียดประณีตใช้เวลามาก
อย่างไรก็ตาม กระด้งลายขอ กระด้งลายบองหยอง
และกระด้งมอน ของภาคใต้
เป็นเครื่องจักสานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นชัดเจนอย่างหนึ่งของภาคใต้
นอกเหนือไปจากสภาพทางภูมิศาสตร์สภาพการดำรงชีวิต
ความเชื่อ ขนบประเพณีและศาสนา
ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดการสร้างเครื่องจักสานแล้ว วัตถุดิบท้องถิ่นยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เครื่องจักสานมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่ต่างไปจากภาคอื่นๆ
ด้วย วัตถุดิบพื้นบ้านที่ใช้ทำเครื่องจักสานภาคใต้มีหลายชนิด เช่นไม้ไผ่ หวาย
ย่านลิเภา กระจูด ใบลำเจียก เตย ใบตาล และคล้า เป็นต้น
เครื่องจักสานพื้นบ้านภาคใต้ยังมีอีกหลายชนิด
หากแบ่งออกตามวัตถุดิบที่นำมาใช้สาน จะแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
เครื่องจักสานที่ทำด้วยหวาย
และไม้ไผ่ มีหลายชนิด ตั้งแต่เครื่องมือดักและจับสัตว์น้ำ
ไปจนถึงเครื่องใช้ในครัวเรือน ได้แก่ กระเชอ จงโคล่ โต๊ระ สีหล้า (หรือสี้ละ)
เครื่องสีข้าวเซงเลง ข้อง โพง นาง ไซ นั่งได้ นอนได้ และข้องดักปลาไหล เป็นต้น
เครื่องจักสานที่ทำจากกระจูด
ใบลำเจียกหรือปาหนัน เตย ใบตาล
ซึ่งนำมาทำเครื่องจักสานประเภทภาชนะและเสื่อมีทำกันในหลายท้องถิ่น
นอกจากนี้
ยังมีเครื่องจักสานบางชนิดที่ทำด้วยวัตถุดิบที่มีอยู่เฉพาะบางท้องถิ่นเท่านั้น
ได้แก่เครื่องจักสานที่ทำจาก ต้นคล้า
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ.ชุดมรดกศิลปะหัถกรรมไทย เครื่องจักสานไทย. กรุงเทพ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย.ธนาคารไทยพานิชย์.๒๕๔๒. ๑๕ เล่ม
http://kanchanapisek.or.th/
https://sites.google.com/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น