ปราสาทบ้านโนนธาตุ (Prasat ban none that) หรือ ปราสาทห้วยทับทัน ตั้งอยู่ในบริเวณวัดปราสาทพนาราม หมู่ 1 ตำบลปราสาท อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ในตำแหน่งเส้นรุ้ง (longtitude) ที่ 15 องศา 05 ลิปดา 55 ฟิลิปดาเหนือ เส้นแวง (latitude) ที่ 104 องศา 02 ลิปดา 05 ฟิลิปดาตะวันออก อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอห้วยทับทัน 7 กิโลเมตร อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ 45 กิโลเมตร (ถนนหลวงหมายเลข 226 แยกไปอีก 7 กิโลเมตร)
ปราสาทบ้านโนนธาตุ ตั้งอยู่บนเนินดินขนาดใหญ่ ในอดีตเคยมีร่องน้ำร้อมรอบ
ปัจจุบัน ถูกไถกลบจากการทำนาจนเกือบหมดสิ้น
คงเหลือเพียงบางส่วนทางด้านทิศตะวันตกเท่านั้น องค์ประกอบของโบราณสถานแห่งนี้มีดังนี้
1. องค์ปราสาท
ตั้งบนฐานศิลาแลงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด
3.04 เมตร มี 3 องค์ ปราสาทกลางสูง 13 เมตร
ส่วนสององค์ที่ขนาบเหนือใต้ สูง 15 เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ยอดทรงเรียวแหลม ก่อด้วยอิฐสอปูน ลักษณะคล้ายปราสาทศรีขรภูมิ แต่มีขนาดเล็กกว่า ทำประตูหลอกไว้ทุกทิศ แต่ที่เข้าออกได้จริงๆ คือ
ประตูที่อยู่ทางด้านตะวันออกของปราสาทองค์กลางเท่านั้น กรอบและเสาประตูทำด้วยหินทราย ทับหลังปราสาทองค์กลาง จำหลักเป็นภาพพระอิศวรและพระนางปรารพตี (อุมา)
ทรงโคศุภราช (นนทิ)
ทับหลังปราสาทด้านทิศใต้
จำหลักเป็นภาพเทวดา และอสูรกวนเกษียรสมุทร
แต่ภาพถูกทำลายและลบเลือนไปอย่างน่าเสียดาย หน้าประตูปราสาทองค์ทิศเหนือและทิศใต้ เคยมีพระพุทธรูปหินทราย
ปัจจุบันเหลือเพียงซากปรักหักพัง
2. กำแพงแก้ว
เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 27 เมตร ยาว 29 เมตร
ก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบ สูงประมาณ 1.50 เมตร มีประตูเข้าได้2 ทาง
คือทางด้านทิศเหนือและด้านทิศตะวันออก
ปัจจุบันกำแพงแก้วได้พังลงมาโดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันออกแทบจะไม่เหลือ
นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างอุโบสถปิดบังภูมิทัศน์ ซึ่งทำให้บดบังแสงจันทร์ และแสงอาทิตย์ที่จะส่องเข้าไปกระทบองค์ศิวลึงก์
ตามศรัทธาความเชื่อของศาสนาฮินดู
3.สระน้ำ หรือ บาราย
จากบริเวณปราสาทไปทางทิศตะวันออกประมาณ 100 เมตร
จะมีสระน้ำขนาดใหญ่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ขนาด200x400 เมตร
มีน้ำขังตลอดปี คันขอบสระมีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นโดยรอบ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า
บริเวณดังกล่าวน่าจะเคยเป็นชุมชนโบราณมาก่อน
นอกจากจะมีคูน้ำล้อมรอบบริเวณเนินดินซึ่งเป็นสถานที่สร้างปราสาทแล้ว
ยังมีการขุดพบหม้อ ไห โบราณคนโฑ
กระปุกน้ำหอม ลูกปัดและเครื่องประดับ
ตลอดจนเครื่องสำริดอื่นๆเป็นจำนวนมาก
ปราสาทบ้านโนนธาตุ
สันนิษฐานว่าองค์ปราสาทน่าจะมีการก่อสร้างเพิ่มเติมภายหลัง ทั้งนี้เพราะโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมแตกต่างไปจากศิลปะเขมรโบราณทั่วๆไป ซึ่งเป็นปรางค์และยอดบนสุดเป็นบัวศิลาจำหลัก
แต่ชั้นพักขององค์ปราสาทแห่งนี้มีลักษณะทรงข้าวบิณฑ์
ซึ่งเป็นศิลปะสุโขทัยมากกว่าจะเป็นศิลปะลาว
เพราะศิลปะลาวส่วนใหญ่จะเป็นสี่เหลี่ยมไม่มีลวดลายประดับมากนัก แต่ศิลปะดั้งเดิมแบบเขมรก็ยังหลงเหลือปรากฎอยู่
คือฐานศิลาแลง
กำแพงแก้วและทับหลังที่จำหลักเป็นภาพในเรื่องรามายณะ น่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17
ซึ่งเป็นศาสนาแบบฮินดู ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นพุทธสถานดังที่ปรากฏในปัจจุบัน
ที่มา
(ข้อมูลจากหนังสือ “รวมศาสนสถานโบราณในจังหวัดศรีสะเกษ” โดยคุณสำลี ศรปัญญา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น