ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานเป็นภาคที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ครอบคลุมหลายจังหวัดได้แก่
จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร
ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์
หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี หนองบัวลำพู มุกดาหาร
ภาคอีสานเป็นดินแดนที่แยกจากที่ราบภาคกลาง
โดยมีภูเขาที่ยกขึ้นมาประดุจขอบของที่ราบสูงหันด้านชันไปทางภาคกลาง
ด้านใต้มีด้านชันทางที่ราบต่ำเขมร ที่ราบสูงอีสานจะลาดเอียงไปทางตะวันออกเฉียงใต้บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงทำให้แม่น้ำสายสำคัญๆ
ของภาคนี้ไหลจากตะวันตกไปยังตะวันออกไปรวมกับแม่น้ำโขง
นอกจากประชากรในภาคอีสานจะมีความหลากหลายของลักษณะทางชาติพันธุ์แล้ว
ยังมีวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนียวเช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ในภาคเหนือ
แม้ว่าคนอีสานจะบริโภคข้าวเหนียวเหมือนกับคนภาคเหนือก็ตามแต่เครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องด้วยการบริโภคข้าวเหนียวของภาคอีสานมีลักษณะเฉพาะตนที่ต่างไปจากของภาคเหนือ
ถึงแม้จะใช้ประโยชน์ในการใส่ข้าวเหนียวเช่นเดียวกันก็ตาม ก่องข้าวและกระติบของชาวอีสาน
ในบริเวณอีสานกลางและอีสานใต้มีรูปแบบเฉพาะตนที่ต่างกัน
โดยมีรูปแบบและวิธีการสานที่เป็นของตนเองตามความนิยมของท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ ก่องข้าวที่ใช้กันในบริเวณอีสานกลาง โดยเฉพาะจังหวัดมหาสารคามร้อยเอ็ด ขอนแก่น
นั้นมีลักษณะและรูปแบบต่างไปจากกระติบข้าวที่สานด้วยไม้ไผ่ของถิ่นอื่นๆก่องข้าวชนิดนี้คล้ายกับก่องข้าวภาคเหนือ
ประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน ฐาน ทำด้วยไม้ตามแต่จะหาได้
เป็นแผ่นไม้กากบาทไหว้กันเพื่อใช้เป็นฐานสำหรับตั้ง
บางทีก็แกะเป็นลวดลายเพื่อความสวยงามไปด้วย ตัวก่องข้าว สานด้วยไม้ไผ่ซ้อนกัน ๒
ชั้น เป็นรูปคล้ายโถ โดยมี ฝา รูปร่างเหมือนฝาชีครอบอีกชั้นหนึ่ง
ขอบฝาจะใช้ก้านตาลเหลาเป็นแผ่นบางๆ โค้งทำขอบฝาเพื่อความคงทน
การสานก่องข้าวชนิดนี้จะต้องสานตัวก่องข้าวซ้อนกัน ๒ ชั้น
เพื่อให้เก็บความร้อนได้ดีโดยที่จะสานโครงชั้นในก่อนด้วยลายสองที่ก้นเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม
เพื่อให้เกิดมุมสี่มุมสำหรับผูกกับไม้กากบาทที่เป็นฐานได้สะดวก
เสร็จแล้วจึงสานส่วนต่อขึ้นมาเป็นตัวก่องข้าวด้วยลายขัด(ภาษาถิ่นเรียก
"ลายกราว")
โดยใช้ตอกตะแคงเส้นเล็กๆ จนได้ขนาดตามต้องการ
แล้วจึงสานตัวก่องข้าวด้านนอกครอบอีกชั้นหนึ่งด้วยตอกปื้นเป็นลายสองยืน
หรือลายสองเวียน เพื่อให้เกิดความสวยงาม
ตัวก่องข้าวที่สานหุ้มนี้จะต้องสานให้ใหญ่กว่าตัวแบบภายใน
แล้วพับปากก่องข้าวหุ้มกลับเข้าไปภายในเพื่อความเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่งโดยใช้เส้นหวายผูกคาดไว้ภายนอกเพื่อรับขอบของฝาไปในตัว
เมื่อได้ตัวก่องข้าวแล้วจึงทำฐานให้ผายออกรับกับรูปทรงของก่องข้าวด้วย
ไม้ฐานนี้จะผูกติดกับส่วนก้นสี่มุมด้วยหวาย
เมื่อได้ตัวก่องข้าวพร้อมฐานแล้วจึงสานฝา
ซึ่งมักจะสานด้วยตอกปื้นค่อนข้างใหญ่เป็นลายต่างๆ
แล้วแต่จะเรียกโดยสานเป็นรูปคล้ายฝาชี
เมื่อได้ส่วนประกอบที่สำคัญพร้อมแล้วจะต้องทำหูสำหรับร้อยเชือกเพื่อใช้สะพายบ่าหรือใช้แขวน
จากรูปทรงและวิธีการของก่องข้าวแบบนี้จะเห็นว่าเป็นการสร้างรูปแบบของเครื่องใช้ให้สนองประโยชน์ใช้สอยได้ดีนั่นเองก่องข้าวชนิดนี้มีความสมบูรณ์ทั้งรูปทรงที่สวยงามและใช้ประโยชน์ได้ดีด้วย
ภาชนะจักสานสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่งอีกแบบหนึ่งที่นิยมใช้กันในอีสานเหนือ
คือ "กระติบ"ซึ่งสานด้วยไม้ไผ่เช่นเดียวกัน
แต่รูปแบบและวิธีการสานแตกต่างออกไป กระติบมีรูปร่างทรงกระบอกคล้ายกระป๋องไม่มีขา
มีเพียงส่วนตัวกระติบและส่วนฝาเท่านั้น วิธีการสานจะสานด้วยตอกไม้เฮี้ยะซึ่งเป็นตอกอ่อนๆ
โดยจะสานเป็นรูปทรงกระบอกให้มีความยาวเป็นสองเท่าของความสูงของตัวกระติบที่ต้องการ
เสร็จแล้วต้องพับทบกลับส่วนหนึ่งไว้เป็นด้านในตัวกระติบ
ก่องข้าวชนิดนี้จะสานลายด้านในและด้านนอกต่างกันคือส่วนที่จะพับทบกลับไว้ด้านในนั้นจะสานด้วยลายอำเวียน
ส่วนด้านนอกที่ต้องการความสวยงามจะสานด้วยลายสองยืน หรือยกดอกเพื่อความสวยงาม
ส่วนก้นจะต้องสานเป็นแผ่นกลมๆ ต่างหากแต่นำมาผนึกติดกับตัวกระติบภายหลัง
ส่วนฝากระติบก็จะทำเช่นเดียวกับตัวกระติบ
กระติบชนิดนี้บางครั้งอาจจะใช้ก้านตาลขดเป็นวงทำเป็นส่วนฐาน เพื่อความคงทนด้วย
อย่างไรก็ตาม
ความแตกต่างระหว่างก่องข้างและกระติบ
เกิดจากความนิยมของท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นที่ทำสืบทอดต่อๆ
กันมาแต่บรรพบุรุษปัจจุบัน
ก่องข้าวและกระติบยังคงรักษารูปทรงและลักษณะเฉพาะถิ่นของตนไว้ได้ เพราะผู้สานแต่ละถิ่นมักมีความถนัดและเคยชินในการทำตามแบบอย่างของตนมากกว่าที่จะเลียนแบบก่องข้าวถิ่นอื่น
แม้ปัจจุบันเครื่องจักสานพื้นบ้านอีสานจะมีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น
เพิ่มสีสันหรือนำวัสดุสมัยใหม่ เช่น พลาสติก
เข้ามาประยุกต์ใช้ประกอบกับเครื่องจักสาน
ซึ่งเป็นไปตามสมัยนิยมมากกว่าความต้องการที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบดั้งเดิมของตน
แต่ในที่สุดก่องข้าวไม้ไผ่ก็ยังเป็นที่นิยมของชาวบ้านมากกว่าภาชนะชนิดอื่น
เครื่องจักสานพื้นบ้านที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ
"ตะกร้า" หรือที่ภาษาถิ่นเรียก "กะต้า"หรือ "กะต่า"
ซึ่งเป็นภาชนะจักสานที่ใช้กันแพร่หลายในภาคอีสาน
ตะกร้า หรือ กะต้าสาน มีประโยชน์ในการใช้สอยเช่นเดียวกับตะกร้าภาคกลางหรือซ้าภาคเหนือ
เป็นภาชนะที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในภาคอีสานเพราะใช้ใส่ของได้สารพัดและใช้ได้ทั้งการหิ้ว
หาบ และคอนด้วยไม้คาน รูปทรงของตะกร้าหรือกะต้าต่างไปจากตะกร้าภาคอื่น
กะต้าสานด้วยไม้ไผ่ เริ่มสานก้นก่อนด้วยลายขัด (ลายขัดบี)ตอกคู่ แล้วค่อยๆ
สานต่อขึ้นมาด้านข้างของตะกร้าด้วยลายธรรมดาเรื่อยไปจนถึงปากของตะกร้าซึ่งจะใช้ตอกเส้นเล็กเพื่อความแข็งแรงทนทานปากหรือขอบตะกร้าจะใช้วิธีเก็บนิมโดยสานซ่อนตอกเข้าในตัวตะกร้า เสร็จแล้วจะทำหูตะกร้าเพื่อใช้หิ้วหรือหาบ โดยมากจะใช้ไม้ไผ่อีกชิ้นหนึ่งโค้งเหนือปากตะกร้า
แล้วผูกปลายทั้งสองเข้ากับขอบตะกร้า
ตะกร้าภาคอีสานจะมีรูปทรงคล้ายๆกันเป็นส่วนใหญ่
อาจจะมีขนาดเล็กและใหญ่ต่างกันเท่านั้น
ตะกร้าชนิดนี้จะใช้ได้ทั้งแบบเป็นคู่และใช้หิ้วเพียงใบเดียว ตั้งแต่ใช้ใส่ผัก
ผลไม้ถ่าน และสิ่งของอื่นๆ ไปจนถึงใช้เป็นเชี่ยนหมากสำหรับใส่หมาก เรียกว่า
"คุหมาก" หรือบางครั้งใช้ชันยาทำเป็นครุหรือคุสำหรับตักน้ำก็ได้
ชาวอีสานนิยมใช้กะต้ากันทั่วไปเพราะมีน้ำหนักเบาทำได้ง่าย
ราคาถูกกว่าภาชนะชนิดอื่น
อย่างไรก็ตาม
ตะกร้าสานของอีสานถึงแม้ว่าจะเป็นเครื่องจักสานที่มีรูปทรงและลวดลายในการสานง่ายๆ
ไม่ละเอียดประณีต แต่เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือนที่ใช้กันแพร่หลาย
เป็นเครื่องจักสานที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นชนิดหนึ่งของอีสาน
จะพบเห็นชาวอีสานหิ้วตะกร้าหรือหาบตะกร้านี้ทั่วไป
นอกจากตะกร้าหรือกะต้าที่ใช้กันแพร่หลายในภาคอีสานหรือถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องจักสานอีสานดังกล่าวแล้ว
ในภาคอีสานยังมีเครื่องจักสานที่น่าสนใจอีกหลายอย่างแต่ส่วนมากจะเป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่มากกว่าอย่างอื่น
และเครื่องจักสานที่ใช้กันมากในชีวิตประจำวันก็เป็นพวกภาชนะต่างๆ เช่น กระบุง
ตะกร้า กระจาด เปลเด็ก เครื่องจักสานที่จำเป็นต่อชีวิตอีกอย่างหนึ่งคือเครื่องมือจับแเครื่องจักสานภาคตะวันออกเฉียงเหนือละดักสัตว์น้ำเช่น
ไซ ข้อง ตุ้มดักกบ ซ่อน ปุ่มขังปลา ฯลฯ
นอกจากนี้มีเครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับการเลี้ยงไหมและการทอผ้า เช่น
กะเพียดปั่นฝ้าย กระด้ง เลี้ยงไหม จ่อเลี้ยงไหม เครื่องจักสานที่เกี่ยวเนื่องกับขนบประเพณีของชาวอีสาน
ได้แก่ เบ็งหมากสำหรับใส่ดอกไม้และเครื่องบูชาต่างๆ
และก่องข้าวขวัญสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่ง เป็นต้น
ที่มา
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ.ชุดมรดกศิลปะหัถกรรมไทย เครื่องจักสานไทย. กรุงเทพ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย.ธนาคารไทยพานิชย์.๒๕๔๒. ๑๕ เล่ม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น