วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

กำเนิดและวิวัฒนาการของเครื่องจักสาน

             

           
             มนุษย์คิดทำเครื่องจักสานมาตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานไม่แน่นอน  แต่ได้พบร่องรอยของเครื่องจักสานบนเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่า  มนุษย์อาจจะสามารถทำเครื่องจักสานได้ก่อนสมัยประวัติศาสตร์และทำต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์  ดังปรากฏรอยภาชนะจักสานบนผิวภาชนะเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง  จากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ บ้านเชียง  อำเภอหนองหาน  จังหวัดอุดรธานี  เป็นภาชนะเล็กๆ  ปากแหลม  ก้นสี่เหลี่ยม  (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร  กรุงเทพมหานคร)  และภาชนะดินเผาทรงกระบอกเล็กๆอีกชิ้นหนึ่งจาก  แหล่งโบราณคดีจังหวัดลพบุรี  (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สมเด็จนารายณ์  จังหวัดลพบุรี)  ภาชนะดินเผาก่อนประวัติศาสตร์ทั้งสองชิ้นดังกล่าว  มีรอยภาชนะจักสานขัดปรากฏบนผิวด้านนอก  จึงสันนิษฐานว่าทำขึ้นโดยใช้ดินเหนียวยาไล้ลงไปในภาชนะจักสาน  เมื่อดินแข็งและแห้งแล้วจึงนำไปเผาไฟ  ไฟจะไหม้ภาชนะจักสานซึ่งเป็นแม่แบบหมดเหลือดินเผาที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับภาชนะจักสานซึ่งเป็นแม่แบบ  จึ่งปรากฏรอยสานที่ผิวด้านนอกตามรวดรายต้นแบบภาชนะเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ดังกล่าว  เป็นหลักฐานสำคัญที่อาจสันนิษฐานได้ว่ามนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยรู้จักทำเครื่องจักสานมาก่อนการทำเครื่องปั้นดินเผาและการทำเครื่องปั้นดินเผายุคแรกอาจจะทำโดยการใช้ดินเหนียวยาไล้ลงในแม่แบบ  (pressing  intomould)  ทิ้งไว้ให้ดินแห้งแล้วจึงนำไปเผา  ซึ่งเป็นกรรมวิธีทำเครื่องปั้นดินเผายุคเริ่มแรก  ก่อนที่จะทำเครื่องปั้นดินเผาด้วยการตีด้วยไม้และหินดุ  และการปั้นโดยใช้แป้นหมุนในยุคต่อมา  สิ่งที่ใช้เป็นรูปแบบ  (mould)  ในการทำเครื่องปั้นดินเผาครั้งแรกๆ  อาจจะเป็นเปลือกผลไม้  เช่น  เปลือกน้ำเต้าหรือเปลือกผลไม้ชนิดอื่น  ก่อนที่จะใช้ภาชนะจักสานเป็นแม่แบบแต่การทำภาชนะดินเผามี่ทำขึ้นด้วยวิธีนี้  จะมีรูปทรงจำกัดตามสิ่งที่นำมาเป็นแม่แบบเท่านั้น  ร่องรอยของเครื่องจักสานที่ปรากฏบนผิวภาชนะดินเผานั้นอาจสันนิษฐานได้ว่า  การทำเครื่องจักสานของมนุษย์ก่อนประวิศาสตร์ในประเทศไทยใช้วัตถุดิบที่แปรรูปด้วยเครื่องมือโลหะ  เช่น  มีด  พร้า  จักหรือเหลาใช้วัตถุดิบเป็นเส้น  ตอก”  ซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะทำเครื่องจักสานแต่ละชนิด  อาจนำหวายหรือไม้ไผ่มาจักเป็นเส้นก่อนที่จะนำมาสานเป็นภาชนะแทนที่จะใช้ใบไม้  เถาวัลย์  มาสานเป็นภาชนะโดยตรงเพราะร่องรอยของเครื่องจักสานที่ปรากฏบนภาชนะดินเผานั้น  แสดงว่าเป็นภาชนะที่สานด้วยตอกที่จักเป็นเส้นอย่างที่ใช้สานเครื่องจักสานปัจจุบัน
         การแปรรูปวัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องจักสานเป็นพัฒนาการสำคัญในการทำเครื่องจักสาน  เพราะการใช้วัสดุที่เป็นเส้นเล็ก  เช่น  ตอก  หวาย  ย่านลิเภา  ทำให้มนุษย์สามารถประดิษฐ์เครื่องจักสานให้เป็นรูปทรงตามต้องการ  และมีความประณีตงดงามยิ่งขึ้น
          การทำเครื่องจักสานบางชนิดในบางท้องถิ่นช่างจักสานจะสานภาชนะหรือใช้ไม้ทำเป็นแม่แบบให้มีรูปทรงตามความต้องการก่อน  แล้วจึงสานทับแม่แบบอีกทีหนึ่งเพื่อให้ได้เครื่องจักสานที่มีรูปร่างและขนาดเหมือนๆกันเป็นจำนวนมาก  เช่น การเปี้ยด  หรือกระบุง  บางท้องถิ่นในจังหวัดแพร่  ช่างจักสานจะสานกระบุงแม่แบบหรือต้นแบบก่อน  แล้วจึงสานกระบุงที่ต้องการทำแบบที่สานไว้  หรือสานหมวกหรือกุ๊บในภาคเหนือ  ซึ่งช่างจักสานมักใช้ไม้กลึงเป็นรูปหมวกเป็นแม่แบบ  แล้วสานโครงหมวกตามแม่แบบที่เป็นไม้นั้นแล้วจึงบุด้วยใบราณหรือใบตาลอีกชั้นหนึ่ง  วิธีนี้จะทำให้หมวกมีรูปร่างเหมือนกันและมีขนาดเท่าๆกัน  นอกจากนี้ก็มีการสานคุหรือแอ่ว  สำหรับตรีข้าวของภาคเหนือซึ่งเป็นเครื่องจักสานขนาดใหญ่ที่ใช้ตอกขนาดใหญ่ช่างจักสานจึงต้องขุดดินเป็นหลุมเป็นแม่แบบ  แล้วลงไปสานในหลุมซึ่งมีหลุมดินเป็นแม่แบบบังคับให้เครื่องจักสานมีรูปทรงตามต้องการ  การใช้เครื่องจักสานโดยใช้แม่แบบนี้ช่วยให้ได้เครื่องจักสานที่รูปร่างเหมือนกันเป็นจำนวนมาก  หรือต้องการให้ได้สานเครื่องจักสานรูปทรงแปลกๆจึ่งต้องใช้แม่แบบ  เช่น  ต้องสานแจกันการสานเป็นรูปสัตว์ในประเทศจีน  จึงใช้ตอกสานหุ้มทับแจกันดินเผาหรือเครื่องปั้นดินเผารูปสัตว์โดยตรง  ทำให้ได้เครื่องจักสานที่มีรูปทรงตามแม่แบบนั้นๆ

          ดังกล่าวแล้วจะเห็นว่า  การทำเครื่องจักสานเป็นหัตถกรรมสำคัญยิ่งประเภทหนึ่งในสังคมเกษตรกรรม  เพราะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้สามารถสานขึ้นใช้เองจากวัตถุดิบที่อยู่ในแต่ละท้องถิ่น   การสร้างรูปทรงและกรรมวิธีในการทำเครื่องจักสานยุคแรกๆ  โดยทั่วไปจะไม่แตกต่างกันนัก  ตั้งแต่การนำใบไม้  เถาวัลย์  มาสานเป็นภาชนะ  สานเป็นเสื่อหรือเครื่องนั่ง  ปูนอน  นำใบมะพร้าว  ใบตาล  ใบลาน  และเถาวัลย์มาสานเป็นภาชนะอย่างหยาบๆสำหรับใส่สิ่งของซึ่งทำกันทั่วไป  เช่น  เครื่องจักสานของชนพื้นเมืองในทวีปออสเตเลีย  เครื่องจักสานของชาวเกาะสุมาตรา  ในประเทศอินโดนีเซีย  และเครื่องจักสานของชาวอินเดียนแดงโบราณในทวีปอเมริกา   จนถึงการทำเครื่องจักสานที่มีรูปทรงง่ายๆและสานอย่างหยาบๆในภาคใต้ของไทย  โดยนำใบมะพร้าวมาสานเป็นภาชนะอย่างง่ายๆสำหรับใส่หญ้า  เรียก  กอนอ  หรือ  ลอม  และนำใบจาก  ใบหลาวโอน   มาสานเป็นภาชนะสำหรับตักน้ำที่รัยกว่า  หมา  หรือการใช้ตอกไม้ไผ่มาสานเป็น  หลัว  และ  สุ่มไก่  เป็นต้น



ที่มา
วิบูลย์  ลี้สุวรรณ.ชุดมรดกศิลปะหัถกรรมไทย  เครื่องจักสานไทย. กรุงเทพมูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย.ธนาคารไทยพานิชย์.๒๕๔๒.  ๑๕  เล่ม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น