วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2556

ดอกลำดวน


ลำดวน : ไม้ไทยแท้ที่ขึ้นชื่อในวรรณคดี

           ลำดวนมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Melo-dorum fruticosum Lour. อยู่ในวงศ์ ANNONA-CEAE    เช่นเดียวกับนมแมว จึงมีลักษณะหลายอย่างคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะรูปทรงของดอก ลำดวนเป็นไม้พุ่มขนาดย่อมสูงประมาณ ๔-๕ เมตร ลำต้นตรง ผิวเปลือกขรุขระเป็นสะเก็ด เรือนยอดเป็นรูปกรวยค่อนข้างทึบ ใบเป็นชนิดเดี่ยว ออกเรียงสลับ รูปยาวรีปลายหอก แกมรูปขอบขนาน ยาว ๘-๑๒ เซนติเมตร กว้าง ๒-๓ เซนติเมตร ด้านบนสีเขียวเข้ม ท้องใบสีนวล ดอกรูปร่างคล้ายดอกนมแมว เป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบ กลีบสีเหลืองนวล กลีบหนา และมีขนนุ่มปกคลุม มี ๖ กลีบ ชั้นนอก ๓ กลีบ แผ่แยกออกจากกัน ชั้นใน ๓ กลีบ ปลายหุ้มเข้าหากัน มีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่กลางดอก ลำดวนมีดอกได้ตลอดปี แต่มีมากช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ดอกมีกลิ่นหอม ความหอมจะมีมากตั้งแต่ตอนเย็นจนถึงตอนเช้าผลสุกของลำดวนมีสีดำ กินได้ รสหวานอมเปรี้ยว
           ดอกลำดวนมีขนาดใหญ่และงดงามกว่าดอกนมแมว จึงนิยมนำมาใช้บูชาพระและแซมผม     สาวไทยสมัยก่อนนิยมชื่อลำดวนกันทั่วไป โดยเฉพาะในภาคกลาง เฉพาะภาคเหนือเรียกลำดวนว่า  หอมนวล
         ลำดวนมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศไทย พบได้ตามป่าเบญจพรรณทั่วประเทศ ขึ้นอยู่เป็น กลุ่มๆ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดศรีสะเกษ พบมากจนกลายเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบัน

          นอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษแล้ว ลำดวนยังเป็นสัญลักษณ์ของ ผู้สูงอายุอีกด้วย มีเรื่องเล่ากันว่า สมเด็จย่าเสด็จฯ เยี่ยมชาวจังหวัดศรีสะเกษ ทรงทอดพระเนตรเห็นดงต้นลำดวนออกดอกงดงามและส่งกลิ่นหอม ทรงพอพระทัย จากนั้นลำดวน จึงกลายเป็นดอกไม้เครื่องหมายของคนสูงอายุในประเทศไทย ทำนองเดียวกับดอกมะลิเป็นเครื่องหมายของแม่นั่นเอง



ที่มา
http://guru.google.co.th/guru/thread?tid=5627a7083b74f5d3

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น